วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2559

อาหารยอดนิยม ภาคเหนือ

ภาคเหนือ


          ความเป็นมาของอาหารยอดนิยมภาคเหนือ

ภาคเหนือเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต มีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ การรับประทานอาหารของทางภาคเหนือจะใช้โก๊ะข้าว หรือที่เรียกว่า ขันโตก แทน โต๊ะอาหาร โดยจะนั่งล้อมวงเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน คนภาคเหนือจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก โดยอาหารของทางภาคเหนือจะเป็นอาหารที่สุกมากๆ
อาหารหลักที่ชาวเหนือนิยมกินได้แก่ ข้าวเหนียว ซึ่งเป็นอาหารที่กินทั้ง 3 มื้อ เราสามารถแบ่งมื้ออาหารของชาวเหนือในแต่ละวันได้เป็น 3 มื้อ คือ
·          - อาหารมื้อเช้า ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่า ข้าวงาย หรือข้าวเช้า กับข้าวในตอนเช้านั้นมีไม่มาก โดยมักจะมีน้ำพริกแห้งๆ เป็นพื้น และแกล้มด้วยผักต้ม หรือเป็นน้ำพริกอ่องแกล้มด้วยผักสด
·          - อาหารกลางวัน เรียกข้าวตอน กับข้าวยังเป็นน้ำพริกอยู่แต่จะมีอาหารประเภทเนื้อ ได้แก่ เนื้อแดงปิ้ง หรือจิ๊น(ชิ้น)ปิ้ง(หมูทาเกลือพริกไทยปิ้ง) หรือกินกับแคบหมู รวมทั้งการกินขนมเส้น(ขนมจีน)น้ำเงี้ยวเป็นอาหารกลางวัน
·          - อาหารเย็น เรียกข้าวแลง กับข้าวจะเป็นน้ำพริกต่างๆ เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลาร้า และแกง เช่น แกงแค นอกจากนี้ยังมีเครื่องจิ้มน้ำพริกพิเศษคือน้ำหนัง ซึ่งเป็นหนังวัวที่เคี่ยวให้ข้นแล้วนำมาทำเป็นแผ่น เวลากินก็นำมาผิงไฟให้สุก แล้วใช้จิ้มกับน้ำพริก

อาหารที่เป็นที่นิยมของภาคเหนือ ที่คณะผู้จัดทำได้สืบค้นข้อมูลเพื่อเผยแพร่ ได้แก่

                   1) ขนมจีนน้ำเงี้ยว
                   2) ข้าวซอยไก่
                   3) น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม

-------------------------------------------------------------------------------------------

1) ขนมจีนน้ำเงี้ยว


          ขนมจีนน้ำเงี้ยวขนมจีนคงเป็นอาหารจานโปรดของใครหลาย ๆ คน ขนมจีนมีด้วยกันหลายชนิด ทั้งขนมจีนน้ำพริกน้ำยา น้ำยาป่า น้ำยาปักษ์ใต้  ขนมจีนแกงเขียวหวาน รสชาติก็แตกต่างกัน แต่ถ้าเป็นของภาคเหนือก็ต้องเป็น ขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือที่เรียกว่า ขนมเส้นน้ำเงี้ยว ขนมจีนน้ำเงี้ยวนี้ เป็นอาหารของชนชาวไทยใหญ่ มีมาแต่โบราณ  แต่เครื่องปรุงบางอย่างได้ปรับแต่งให้ถูกรสชาติของทางคนเมือง น้ำเงี้ยวที่อร่อยรสชาติต้องเข้มข้น ของน้ำพริก มีรสเผ็ดนำเปรี้ยวตาม เค็มเล็กน้อย ส่วนใหญ่ทั่วไปที่เห็นกัน จะเป็นขนมจีนน้ำเงี้ยวหมู

คุณค่าอาหารทางโภชนาการ
ขนมจีนน้ำเงี้ยว เป็นอาหารเมนูจานเดียว ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือของประเทศไทยจุดเด่นของขนมจีนน้ำเงี้ยว อยู่ที่การใช้เกสรดอกเงี้ยว ซึ่งเป็นเกสรตากแห้งนำมาเป็นส่วนประกอบที่ให้สีสันในเมนูนี้ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องพริกแกงก็คือพริกแห้ง กระเทียม กะปิ  จุดเด่นของเมนูขนมจีนน้ำเงี้ยวที่น่าสนใจก็คือการรับประทานเคียงคู่กับผักเครื่องเคียง ซึ่งผักเครื่องเคียงที่นิยมบริโภคคู่คือ ผักสดซึ่งหาได้ง่ายหาได้ตามท้องตลาดไม่ว่าจะเป็น ผักชี ต้นหอม หรือว่า ผักกาดขาว
คุณค่าทางโภชนาการของขนมจีนน้ำเงี้ยว โดยองค์ประกอบเด่นๆที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็คือ ส่วนของสารสกัดของเกสรดอกเงี้ยวแห้ง ซึ่งมีการวิจัยทั้งในต่างประเทศและในประเทศพบว่าสามารถป้องกันเซลล์มะเร็งได้และป้องกันโรคเบาหวาน สิ่งที่เป็นตัวชูโรงอีกอย่างของขนมจีนน้ำเงี้ยวก็คือ เต้าเจี้ยว เพื่อจะให้มีรสชาติเด่นขึ้น จึงมีการผสมเต้าเจี้ยวลงไปในส่วนประกอบ คนทางภาคเหนือจะรับประทานออกเค็มออกเปรี้ยวเล็กน้อยไม่ติดหวานเหมือนภาคกลาง คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของขนมจีนน้ำเงี้ยวประกอบด้วยคุณประโยชน์
เมื่อได้ทราบคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของขนมจีนน้ำเงี้ยวแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราควรระวังก็คือ เนื้อสัตว์ที่มีอยู่ในขนมจีนน้ำเงี้ยว โดยมากตามร้านอาหารจะใช้เนื้อหมูติดมัน โดยนำมาทำเป็นเนื้อสับ หรือถ้าเป็นเนื้อไก่ก็จะเป็นไก่ติดมัน เพราะจะให้รสชาติที่อร่อยกว่า เพราะไขมันจะช่วยชูโรงให้อาหารมีความกลมกล่อมขึ้น แต่ก็ถ้าเราทำรับประทานเองที่บ้านขอแนะนำให้ใช้เนื้อสับ โดยใช้ส่วนที่มีไขมันน้อยในการทำหมูสับ หรือ ถ้าใช้เนื้อไก่ควรใช้ส่วนที่เป็นหน้าอก เพราะว่าจะได้มีปริมาณไขมันน้อยลง และก็อีกอย่างนึ่งก็คือ เกสรดอกเงี้ยวที่ใส่ลงในขนมจีนน้ำเงี้ยว แนะนำให้บริโภคเข้าไปด้วยเพราะว่ามีคุณค่าดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แล้วยังให้ใยอาหารซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยดักจับสารพิษในลำไส้ได้ด้วย ที่สำคัญก็คือ ควรบริโภคคู่กับผักเครื่องเคียง รับประทานผักเครื่องเคียงได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเพราะว่า ผักมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินต่างๆ ที่ร่างกายได้นำเอาไปใช้ประโยชน์ ขนมจีนน้ำเงี้ยว อย่าใส่น้ำมันมาก เพราะเนื้อหมูก็มีความมันอยู่แล้ว ควรระมัดระวังเรื่องไขมันกันด้วย

วิธีการทำขนมจีนน้ำเงี้ยว

ส่วนผสมเครื่องพริกแกงขนมจีน

พริกแห้ง        8        เม็ด
กระเทียมไทย  25      กลีบ
หอมแดง        15      หัวเล็ก
รากผักชี        6        ราก
กระชาย        7        หัว
กะปิ            2        ช้อนชา
เกลือ(ป่น)      ½       ช้อนชา            

เครื่องปรุงน้ำซุป

น้ำสะอาด      5        ถ้วยตวง
กระดูกหมู      2        ขีด
ดอกงิ้ว                    1        ถ้วยตวง           

เครื่องปรุงขนมจีนน้ำเงี้ยว

เลือดไก่ต้มสุก (หั่นเป็นสี่เหลี่ยม)  4 1/2   ขีด
มะเขือเทศสีดา (ผ่าซีก)            18      ลูก
เต้าเจียว                           3        ช้อนโต๊ะ
หมูสับ                              250     กรัม
เครื่องพริกแกงน้ำเงี้ยว             7        ช้อนโต๊ะ
น้ำมันพืช                          5        ช้อนโต๊ะ
กระเทียม (สับ)                    15      กลีบ
น้ำซุปกระดูกหมู                   4        ถ้วยตวง
กระเทียมเจียวกากหมู             3        ช้อนโต๊ะ

วิธีทำเครื่องแกง

1.นำ พริกแห้งเม็ดใหญ่  กระเทียม  หอมแดง  รากผักชี  กระชาย  เกลือ  กะปิ นำมาโขลกรวมกันให้ละเอียดก็จะได้เครื่องพริกแกงน้ำเงี้ยว

วิธีทำน้ำซุป

1.ต้มน้ำให้เดือด ใส่กระดูกหมู และดอกงิ้วลงไปต้ม
2.เคี่ยวจนกระดูกหมูเปื่อย ก็จะได้น้ำซุป สำหรับทำน้ำเงี้ยว
           

วิธีทำขนมจีนน้ำเงี้ยว

1.เจียวกระเทียมให้หอม เอาเครื่องพริกแกง เข้าไปรวนให้หอม นำหมูสับลงไปผัดให้เข้ากันกับเครื่องพริกแกง
2.พอหมูสุกก็ใส่เต้าเจี้ยวลงไปผัดให้เข้ากัน
3.ใส่มะเขือเทศ ลงไปผัดจนมะเขือเทศสุก
4.เมื่อมะเขือเทศสุกแล้ว ก็ตักลงหม้อที่มีน้ำซุปกระดูกหมู ตั้งไฟคอยไว้แล้ว
5.ต้มต่อจนน้ำแกงเดือด ก็เอาเลือดไก่มาใส่ คนให้เข้ากัน
6.ตั้งไฟต่ออีกสักพัก ให้น้ำเงี้ยวค้นได้ที่ ก็เป็นอันเสร็จ ขั้นตอนการทำน้ำเงี้ยว ตักขึ้นใส่ถ้วยโรยด้วย กระเทียมเจียวกากหมู และต้นหอมผักชี



ตารางแสดงคุณค่าอาหาร




** ข้อมูลคุณค่าโภชนาการ โดย...   มลฤดี สุขประสารทรัพย์ และ ริญ เจริญศิริ
** ข้อมูลการปรุงอาหาร โดย ..     ทิวาพร ปินตาสี

-------------------------------------------------------------------------------------------

2) ข้าวซอยไก่



ข้าวซอยน่องไก่” เนื่องจากทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีกลุ่มชนต่าง ๆ หลากหลายชาติพันธ์ อาศัยอยู่ วัฒนธรรม รวมทั้งอาหารการกิน  จึงมีการผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ข้าวซอย  ก็เป็นอาหารพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่ได้ดัดแปลงมาจาก ชาวจีนฮ่อ ที่มีเชื้อสายอิสลาม เป็นอาหารประเภทจานเดียว หาทานง่าย มีทำขายอยู่ทั่วไป ข้าวซอยทำมากจากแป้งเป็นแผ่น แล้วนำมาหั่นซอยเป็นเส้น ๆ เลยเรียกว่า เส้นซอย หรือข้าวซอย แล้วราดด้วยน้ำซุปเครื่องแกง สูตรดั้งเดิมโบราณของชาวจีน มุสลิม ไม่ใส่กะทิ บางคนจึงเรียกว่าข้าวซอยน้ำใส เมื่อคนไทยมาทำ ได้มีการประยุกต์โดยใส่กะทิเข้าไปด้วย เพื่อให้รสชาติเข้มข้นถูกปากมากยิ่งขึ้น มีกลิ่นหอมของเครื่องเทศ สีออกเหลือง รสชาติเผ็ดเล็กน้อย เค็มนำได้ รสหวานมันจากกะทิ  มีทั้งข้าวซอยเนื้อ และข้าวซอยไก่

คุณค่าอาหารทางโภชนาการ

ข้าวซอยไก่ เป็นอาหารที่ดัดแปลงมาจากชาวจีนฮ่อที่มีเชื้อสายอิสลามตอนบน  คนไทยนำมาดัดแปลงโดยการแต่งเติมใส่สีก็คือ ใส่ขมิ้น” ให้เป็นสีเหลืองและใส่เส้นที่เป็นสีเหลือง ใส่กะทิลงไปเพื่อช่วยเพิ่มความหวานมัน ข้าวซอยไก่จะรับประทานคู่กับข้าวสวยก็ได้ แต่ถ้ารับประทานคู่กับข้าวสวยจะเรียกว่า แกงไก่” การรับประทานข้าวซอยไก่โดยมากนั้นจะรับประทานคู่กับผักกาดดองหรือผักเครื่องเคียงต้นหอม ผักชี และอาจมีหอมแดงซอยควบคู่กันไปด้วย เป็นผักเครื่องเคียง น้ำพริกเครื่องแกงของเครื่องแกงนี้เด่นๆ ก็เป็นผงกระหรี่ พริกแห้ง  กะปิ กระเทียม ซึ่งส่วนประกอบของเครื่องแกงหเล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีประโยชน์คือ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รายงานว่า เครื่องเทศเหล่านี้สามารถป้องกันโรคมะเร็งสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ โดยเฉพาะกระเทียมซึ่งมีสารอัลลิซิน(allicin)
สำหรับคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของเมนูข้าวซอยไก่ สิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจากการรับประทานอาหารเมนูนี้ ก็มักจะมาจากเครื่องเทศที่เป็นส่วนประกอบต่างๆที่อยู่ในน้ำพริกแกงของข้าวซอยไก่ ผิวมะกรูด ช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็งนอกจากนี้ ตะไคร้ มีสารน้ำมันหอมระเหย ต้านเซลล์มะเร็งได้ดี ข้อควรระวังที่สำคัญของเมนูนี้ก็คือ กะทิและหนังไก่ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงหรือต้องระวังเรื่องนี้ เวลารับประทานให้ ลอกหนังไก่ออกรับประทานเฉพาะเนื้อไก่ ส่วนน้ำแกงต้องรับประทานให้น้อยลง แล้วก็รับประทานผักเครื่องเคียงให้มากขึ้นข้าวซอยเป็นอาหารของภาคเหนือที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีอาหารเหนือไม่กี่เมนูที่มีการใช้กะทิ



วิธีการทำข้าวซอยไก่

เครื่องพริกแกงข้าวซอย

พริกแห้ง (เม็ดใหญ่)      11      เม็ด
หอมแดง                  8        หัวเล็ก
กระเทียมไทย            23      กลีบ
ขมิ้น                      1        แว่น
กะปิ                      2        ช้อนชา
ชะโก (เครื่องเทศ)        1        เม็ด
ขิง                        1        แง่งเล็ก
เกลือ (ป่น)               ½       ช้อนชา
ผงกะหรี่                  1        ช้อนชา
ซีอิ๊วขาว                  2        ช้อนชา  

เครื่องปรุงข้าวซอยน่องไก่

ไก่ (น่อง)                 4        น่อง
เส้นบะหมี่ข้าวซอย       4        ก้อน
หัวกะทิ                   3        ถ้วยตวง
หางกะทิ                  3        ถ้วยตวง
น้ำตาลปี๊บ                4        ช้อนโต๊ะ
พริกแกงข้าวซอย        6        ช้อนโต๊ะ




วิธีทำเครื่องแกงข้าวซอย

1.นำ พริกแกงใหญ่  หอมแดง  กระเทียม  ขมิ้น  กะปิ  ชะโก  ซึ่งเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง  แล้วก็มีขิง  เกลือป่น ผงกะหรี่ ซีอิ๊วขาวมาโขลกรวมกันให้ละเอียด โดยใส่ผงกะหรี่ และ ซีอิ๊วขาวไว้หลังสุด เพื่อสะดวกตอนโขลกได้ง่าย
           

วิธีทำข้าวซอย

1.เอาเส้นบะหมี่ไปลวก ในน้ำเดือดประมาณ 3 นาที จนเส้นลอยสุก ก็พักไว้
2.ในส่วนกะทิมีทั้งส่วนที่เป็นหัวกะทิ และแยกเป็นหางกะทิไว้ต่างหาก
4.เอาหม้อขึ้นตั้งไฟ ตั้งไฟจนเดือด จากนั้นนำน่องไก่ มาใส่ลงไปในหม้อต้มไก่ให้สุก อาจใช้เวลานิดหนึ่งพอไก่สุกก็ตักน่องไก่ขึ้นพักไว้ และเก็บหางกะทิที่ต้มไก่ไว้ก่อนด้วย
5.เอาหม้อใบใหม่มาตั้งไฟ  ใส่หัวกะทิลงไปในหม้อ ตั้งไฟจนกว่ากะทิจะเดือด ระหว่างนี้คนกะทิไปด้วย
6.เมื่อหัวกะทิที่ตั้งไฟเดือดดีแล้ว แบ่งตักเอาหัวกะทิบางส่วนไว้ใช้สำหรับโรยแต่งหน้า ตอนจะรับประทาน
7.นำเครื่องแกงข้าวซอย มาใส่ละลายลงไปหม้อกะทิ คนให้พริกแกงเข้ากับกะทิให้ดี แล้วใส่น้ำตาลปี๊บ คนให้น้ำตาลละลาย
8.พอกะทิเดือด ก็นำน่องไก่ที่ต้มสุกแล้วมาใส่ จากนั้นนำหางกะทิมาเติมลงในหม้อ คนให้เข้ากัน ตั้งจนเดือดอีกครั้ง ก็เป็นอันเสร็จ น้ำแกงข้าวซอย              



ตารางแสดงคุณค่าอาหาร



** ข้อมูลคุณค่าโภชนาการ โดย...   มลฤดี สุขประสารทรัพย์ และ ริญ เจริญศิริ
** ข้อมูลการปรุงอาหาร โดย ..     ทิวาพร ปินตาสี

-------------------------------------------------------------------------------------------

3) น้ำพริกอ่อง


 “น้ำพริกอ่องเป็นน้ำพริกพื้นบ้านของทางภาคเหนือ  รู้จักแพร่หลายกันเป็นอย่างดี สีสรรของน้ำพริกอ่อง นับว่าสวยงาม น่ารับประทาน ออกสีส้มแดง  ที่ได้จากมะเขือเทศและพริกแห้ง มีเนื้อหมูประกอบในน้ำพริก  รสชาติออก เค็ม เผ็ดเล็กน้อย มีรสหวาน อมเปรี้ยวจากมะเขือเทศ นิยมรับประทานกับผักสด และแคบหมู ทำง่ายไม่ยุ่งยาก
คุณค่าอาหารทางโภชนาการ
        เมื่อกล่าวถึงน้ำพริกอ่องก็เป็นทราบกันอยู่แล้วก็คือ อาหารทางภาคเหนือน้ำพริกอ่องมีจุดเด่นคือมะเขือเทศ ที่เป็นตัวที่ทำให้น้ำพริกอ่องเมนูนี้มีสีแดงสดใสน่ารับประทาน ซึ่งสีแดงสดใสพบได้จากสารสำคัญที่อยู่ในมะเขือเทศก็คือ เบต้าแคโรทีนและไลโคปีน สารทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นตัวสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในการกำจัดสารพิษ ป้องกันอนุมูลอิสระและที่สำคัญในไลโคปีน (Lycopene) ยังช่วยในเรื่องของหลอดเลือดอุดตัน ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ และก็ลดความเสี่ยงต่อโรคมะร็งได้ด้วย นอกจากนี้ในผู้ป่วยเบาหวานมีรายงานวิจัยพบว่าสารไลโคปีนยังช่วยชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วย นอกจากนี้พริกเองก็ยังมีสารแคปไซซิน(capsaicin) วิตามินซี รวมทั้งเบต้าแคโรทีน (β-carotene) ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทำให้เมนูนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ระวังในการทำน้ำพริกอ่องก็คือ เนื้อหมูที่ส่วนมากนิยมใช้หมูสับก็ควรเลือกเนื้อหมูแดงให้มากเพราะว่าจะได้มีปริมานไขมันจากเนื้อสัตว์น้อยลงด้วย
จุดเด่นของมะเขือเทศซึ่งเป็นเครื่องปรุงหลักของน้ำพริกอ่องก็คือ มะเขือเทศ ที่จะมีไลโคปีน เบต้าแคโรทีน และวิตามินซีสูง ส่วนข้อควรระวังคือ ปริมาณไขมัน ดังนั้นน้ำมันพืชที่ใช้ผัดควรใส่ให้น้อยลง ควรใส่ ½ - 1 ช้อนชา และควรรับประทานคู่กับผักเครื่องเคียงให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผักสด ผักต้ม หรือผักลวก เพราะจะได้รับประโยชน์จากผักที่กินเข้าไป

วิธีการทำน้ำพริกอ่อง

ส่วนผสมเครื่องแกง

- พริกแห้ง (เม็ดใหญ่)      4        เม็ด
- หอมแดง                 22      หัวเล็ก
- กระเทียมไทย            5        กลีบ
- รากผักชี                  1        ราก
- เกลือ                     1        ช้อนชา
- กะปิ                      1        ช้อนโต๊ะ

           เครื่องปรุงน้ำพริกอ่อง

- หมูเนื้อแดง(สับ)                   2        ขีด
- มะเขือเทศสีดา(ผ่าครึ่ง)            10      ลูก
- หอมแดง(ซอย)                     10      หัว
- กระเทียม(สับ)                     12      กลีบ
- ต้นหอมผักชี(ซอย)                 3        ต้น
- น้ำมันพืช                          3        ช้อยโต๊ะ
- เครื่องแกง (น้ำพริกอ่อง)           7        ช้อยโต๊ะ
- น้ำสะอาด                         ½       ถ้วยตวง

วิธีทำเครื่องแกง

1.นำพริกแห้ง  หอมแดง  กระเทียม  รากผักชี  เกลือ แล้วก็กะปิ เมื่อได้ครบหมดแล้วก็นำมาโขลกรวมกันให้ละเอียด ก็จะได้พริกแกงน้ำพริกอ่อง    

วิธีการทำน้ำพริกอ่อง

1.เอากระทะตั้งเตา ใส่น้ำมัน แล้วเอากระเทียมเจียวพอให้เหลือง  แล้วใส่เครื่องแกงน้ำพริกอ่องลงไปผัดในกระทะให้เข้าน้ำมัน
2.เครื่องแกงเริ่มหอมก็ใส่หมูสับลงไป ผัดให้เครื่องแกงกับหมูเข้ากัน
3.หมูสุกก็ใส่มะเขือเทศ ผัดให้เข้ากัน  ปล่อยทิ้งไว้จนมะเขือเทศสุกแต่ไม่ต้องสุกมากนัก เดี๋ยวจะเละเกินไป
4.มะเขือเทศสุกได้ที่แล้ว ก็ใส่หอมลงไป ผัดให้เข้ากัน ใส่น้ำสะอาดที่เตรียมไว้ลงไป  ตั้งไฟต่อจนหอมสุก ก็จะได้น้ำพริกอ่อง ที่มีน้ำคลุกคลิกก็ยกลงจากเตาได้ โรยหน้าด้วยหอมผักชี



ตารางแสดงคุณค่าอาหาร


** ข้อมูลคุณค่าโภชนาการ โดย...   มลฤดี สุขประสารทรัพย์ และ ริญ เจริญศิริ
** ข้อมูลการปรุงอาหาร โดย ..     ทิวาพร ปินตาสี

---------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น